เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) แถลงความสำเร็จในการวิจัยเครื่องอบฆ่าเชื้อระบบไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (H2O2) ด้วยเทคโนโลยีปลอดเชื้อระบบอุณหภูมิต่ำ โดยใช้ความเข้มข้นของน้ำยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์เพียง 12% สำหรับอบฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ได้อย่างปลอดภัย ปราศจากสารตกค้าง การสวมใส่สะดวกสบาย และคงลักษณะทางกายภาพเหมือนหน้ากากใหม่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพการกรองของหน้ากาก สามารถกรองอนุภาค PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า 85% ตามมาตรฐานที่กำหนด และยังสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมครอน ได้มากกว่า 94% จึงประหยัด และช่วยบรรเทาภาวะการขาดแคลนหน้ากาก N95
ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. และ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง 1992 (จำกัด) ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์และเครื่องอบฆ่าเชื้อไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ รายใหญ่ของประเทศไทย ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มทส. เป็นประธานในการแถลงข่าว โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ สินธุภากร ผู้อำนวยการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขเกษม วัชรมัยสกุล รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ พร้อมด้วย นายวิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ กรรมการผู้จัดการ และ นายสุวิทย์ แว่นเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง 1992 (จำกัด) ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จ ณ อาคารรัตนเวชพัฒน์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ สินธุภากร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ มทส. กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทั่วโลก ซึ่งเป็นโรคระบาดรุนแรงที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้เวชภัณฑ์ต่าง ๆ เกิดการขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้ากาก N95 ที่ใช้ในการป้องกันและช่วยลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดผู้ป่วยมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งนี้แนวทางในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนที่ได้รับการยอมรับวิธีการหนึ่งคือ การนำหน้ากาก N95 ที่ผ่านการใช้งานแล้ว มาทำการฆ่าเชื้อด้วยเครื่องอบฆ่าเชื้อระบบไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 58% ที่สามารถอบฆ่าเชื้อได้ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพการกรองของหน้ากาก สำหรับการฆ่าเชื้อเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำนั้นจะ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องสามารถฆ่าเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด COVID-19 ได้ ต้องไม่ทำลายระบบกรองของหน้ากาก ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความพอดีของหน้ากากและปลอดภัยต่อผู้ที่สวมใส่หน้ากาก เช่น ไม่มีการแพร่กระจายของสารเคมีเข้าไปในเขตการหายใจ หากระบบการกรองเสียหาย หรือหน้ากากไม่พอดี จะไม่ช่วยลดการสัมผัสกับอนุภาคในอากาศ ดังนั้น ทางทีมวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ มทส. ได้ร่วมกับ ทีมวิจัยของ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง 1992 (จำกัด) ทำการวิจัยและทดลองอบฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ด้วยเครื่องอบฆ่าเชื้อระบบไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ โดยใช้ความเข้มข้นของน้ำยาเพียง 12% และทดสอบคุณสมบัติหน้ากาก N95 ที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อ ซึ่งการวิจัยและทดสอบคุณสมบัติได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขเกษม วัชรมัยสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ มทส. กล่าวถึง “ผลการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของหน้ากาก N95 ที่ผ่านการใช้งานและผ่านการทำให้ปลอดเชื้อด้วยระบบอุณหภูมิต่ำและระบบไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ โดยใช้ความเข้มข้นของน้ำยา 12% พบว่าปราศจากสารไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ตกค้างในหน้ากาก N95 การสวมใส่สะดวกสบาย ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่มีรูรั่วเวลาหายใจ และคงลักษณะทางกายภาพเหมือนหน้ากากใหม่ ความสามารถในการกรองอนุภาค PM2.5 มีประสิทธิภาพมากกว่า 85% ตามที่มาตรฐานกำหนด และมีความสามารถในการกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมครอน ได้มากกว่า 94% ขนาดโครงสร้างรูของแผ่นกรองอากาศและความแข็งแรงของหน้ากากไม่เปลี่ยนแปลง จากผลวิจัยนี้ถือได้ว่า คณะผู้วิจัยประสบความสำเร็จในการอบฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ด้วยเครื่องอบฆ่าเชื้อระบบไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ โดยใช้ความเข้มข้นของน้ำยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์เพียง 12% ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้สารฆ่าเชื้อ ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ปราศจากสารตกค้าง และยังคงคุณลักษณะทางกายภาพและคงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรค นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดนวัตกรรมการใช้เครื่องอบฆ่าเชื้อหน้ากาก N95, FFP2, KN95 ด้วยระบบไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ โดยใช้ความเข้มข้นของน้ำยา 12% ในยามที่หน้ากากอนามัยอยู่ในภาวะขาดแคลนได้อีกด้วย”